ข้อตกลงและเงื่อนไขการเช่ายานยนต์
ส่วนที่ 1 ข้อบังคับทั่วไป
ข้อ 1 (การใช้ข้อตกลงและเงื่อนไข)
- ภายใต้ข้อตกลงและเงื่อนไขฉบับนี้ บริษัทตกลงให้ผู้เช่าเช่ายานยนต์ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "รถเช่า") และผู้เช่าตกลงเช่ารถเช่าจากบริษัท ตามมาตราที่ 8 ข้อ 3 ในกรณีที่คนขับเป็นคนละคนกับผู้เช่า ผู้ขับขี่จะต้องรับทราบและปฏิบัติตามข้อตกลงและเงื่อนไขฉบับนี้ที่ครอบคลุมถึงในส่วนของผู้ขับขี่ทั้งหมด อนึ่ง รายละเอียดใดๆ ที่ไม่ได้ระบุไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขฉบับนี้ ขอให้ตีความตามข้อบังคับบริษัทข้อ 41 กฎหมาย และจารีตประเพณีทั่วไป
- บริษัทอาจตกลงทำสัญญาพิเศษใดๆ โดยมีเงื่อนไขว่าสัญญาพิเศษนั้นจะต้องไม่ขัดกับวัตถุประสงค์ของข้อตกลงและเงื่อนไข ข้อบังคับบริษัท กฎหมาย ประกาศหน่วยงานของรัฐ และจารีตประเพณีทั่วไป ในกรณีที่มีการทำสัญญาพิเศษ ให้ใช้ข้อความในสัญญาพิเศษบังคับแทนข้อตกลงและเงื่อนไข
ส่วนที่ 2 การจอง
ข้อ 2 (การลงทะเบียนจอง)
- หากผู้เช่ายอมรับข้อตกลงและเงื่อนไข รายการราคา ฯลฯ ที่มีการระบุไว้ต่างหากแล้ว ในการเช่ารถเช่า ผู้เช่าสามารถทำการจองรถเช่าได้ตามวิธีการที่ได้ระบุไว้ต่างหาก และในการจองผู้เช่าจะต้องระบุประเภทของรถเช่า วันและเวลาที่เริ่มเช่า สถานที่รับรถเช่า ระยะเวลาการเช่า สถานที่คืนรถเช่า ชื่อผู้ขับขี่ ระบุว่าจะใช้เบาะนั่งสำหรับเด็กในรถยนต์หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆ หรือไม่ และเงื่อนไขในการเช่าอื่นๆ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "เงื่อนไขการเช่า") ให้ชัดเจน
- เมื่อบริษัทได้รับการจองจากผู้เช่า ตามหลักแล้วบริษัทจะยึดตามการจองนั้นตราบที่บริษัทมีรถเช่าดังกล่าวพร้อมให้เช่า ซึ่งรวมถึงในกรณีการให้เช่าช่วงภายใต้ข้อกำหนดมาตราที่ 34.1 (รวมถึงกรณีที่มีการให้เช่ายืมยานยนต์ที่ได้รับการเช่าช่วงตามข้อกำหนดเดียวกัน ซึ่งเป็นรถที่นำมาใช้แทนด้วย) ในกรณีนี้ ผู้เช่าจะต้องชำระเงินมัดจำค่าเช่าตามที่ได้ระบุไว้ต่างหาก เว้นเสียแต่ว่าบริษัทจะตกลงเป็นอย่างอื่น
ข้อ 3 (การเปลี่ยนแปลงการจอง)
ในกรณีที่ผู้เช่าประสงค์จะเปลี่ยนเงื่อนไขการเช่าตามที่ระบุไว้ในข้อ 2.1 ผู้เช่าจะต้องได้รับการยินยอมจากบริษัทก่อนล่วงหน้า
ข้อ 4 (การยกเลิกการจอง ฯลฯ)
- ผู้เช่าสามารถยกเลิกการจองได้ด้วยวิธีการที่ได้ระบุไว้ต่างหาก
- การจองจะถือว่าถูกยกเลิกหากผู้เช่าไม่เริ่มกระบวนการทำสัญญาเช่าสำหรับการเช่ารถเช่า (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "สัญญาเช่า") ภายในหนึ่งชั่วโมงนับจากวันเวลาเริ่มการเช่าที่ได้ทำการจองไว้ โดยมีสาเหตุมาจากผู้เช่าเอง
- ในกรณีตามข้อ 4.1 และ 4.2 ผู้เช่าจะต้องชำระค่ายกเลิกให้กับบริษัทตามที่ได้กำหนดไว้ต่างหาก เมื่อบริษัทได้รับชำระค่ายกเลิกแล้ว บริษัทจะคืนมัดจำค่าเช่าที่บริษัทได้รับมาก่อนหน้านี้ให้กับผู้เช่า
- หากบริษัทยกเลิกการจอง หรือไม่ทำสัญญาเช่าโดยมีสาเหตุมาจากบริษัทเอง บริษัทจะคืนมัดจำค่าเช่าที่บริษัทได้รับมาก่อนหน้านี้ให้กับผู้เช่า และชำระค่าปรับให้กับผู้เช่าตามที่ได้ระบุไว้ต่างหาก
- หากสัญญาเช่ารถเช่าไม่ได้ถูกทำขึ้นหรือไม่สามารถให้รถเช่าตามที่จองไว้ล่วงหน้าได้ โดยมีสาเหตุอันเนื่องมาจากอุบัติเหตุ การโจรกรรม การไม่คืนรถ การถูกเรียกรถคืน ภัยพิบัติทางธรรมชาติ การคืนรถเช่าล่าช้าโดยผู้เช่าอื่น หรือเหตุการณ์อื่นใดซึ่งไม่ได้เป็นความผิดของทั้งผู้เช่าและบริษัท แม้การจองจะเรียบร้อยสมบูรณ์แล้ว แต่จะถือว่าการจองนั้นถูกยกเลิก ในกรณีดังกล่าว บริษัทจะคืนมัดจำค่าเช่าที่บริษัทได้รับมาก่อนหน้านี้ให้แก่ผู้เช่า
- ในการลงทะเบียนจองผ่านทางอินเทอร์เน็ต ในกรณีที่เมล์ยืนยันการจองจากบริษัทไม่สามารถส่งกลับไปยังที่อยู่อีเมล์ที่ผู้เช่าระบุได้ หรือในกรณีที่ไม่สามารถติดต่อผู้เช่าทางโทรศัพท์ได้ บริษัทจะถือว่าการจองนั้นไม่สมบูรณ์
ข้อ 5 (การจัดหารถเช่าทดแทน)
- หากบริษัทไม่สามารถให้เช่ารถเช่าตามเงื่อนไขต่างๆ เช่น ประเภทของรถเช่า, อุปกรณ์เสริม, ประเภทรถที่สูบบุหรี่ได้หรือห้ามสูบบุหรี่ หรือสเปคอื่นๆ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า “เงื่อนไข”) ตามที่ผู้เช่าทำการจองไว้ได้ บริษัทอาจเสนอรถประเภทอื่นแทนให้ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "รถเช่าทดแทน")
- หากผู้เช่าตกลงตามข้อเสนอของบริษัทในข้อ 5.1 บริษัทจะให้ผู้เช่าเช่ารถทดแทนโดยใช้เงื่อนไขการเช่าเดิมที่เสนอไว้ตอนจองทั้งหมดยกเว้นเงื่อนไขที่เกี่ยวกับประเภทของรถเช่า หากค่าเช่าของประเภทรถทดแทนแพงกว่าค่าเช่าของรถประเภทที่จองไว้ จะคิดค่าเช่าตามประเภทรถที่จองไว้ หากค่าเช่าของประเภทรถทดแทนถูกกว่าค่าเช่าของรถประเภทที่จองไว้ จะคิดค่าเช่าตามประเภทรถทดแทน
- ผู้เช่าสามารถปฏิเสธที่จะยอมรับข้อเสนอที่จะให้เช่ารถทดแทนตามข้อ 5.1 และยกเลิกการจองได้
- ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 5.3 หากสาเหตุที่บริษัทไม่สามารถให้เช่ารถได้ในข้อ 5.1 เป็นสาเหตุที่เกิดจากบริษัทเอง การยกเลิกการจองในครั้งนี้จะถือว่าเป็นการยกเลิกตามข้อ 4.4 และบริษัทจะคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้เช่า รวมถึงชำระค่าปรับให้แก่ผู้เช่าตามที่ได้ระบุไว้ต่างหากด้วย
- ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ตามข้อ 5.3 หากสาเหตุที่บริษัทไม่สามารถให้เช่ารถได้ในข้อ 5.1 เป็นเหตุที่ไม่ได้เกิดจากบริษัท การยกเลิกการจองในครั้งนี้จะถือว่าเป็นการยกเลิกตามข้อ 4.5 และบริษัทจะคืนเงินมัดจำที่ได้รับมาแล้วให้แก่ผู้เช่า
ข้อ 6 (ข้อยกเว้นไม่ต้องรับผิดชอบ)
นอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 4 และ 5 แล้ว บริษัทและผู้เช่าจะต้องไม่กล่าวโทษอีกฝ่ายในเรื่องใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับการยกเลิกการจองหรือการที่สัญญาเช่าดำเนินการไม่สำเร็จ
第7条(予約業務の代行)
- ผู้เช่าสามารถจองผ่านตัวแทนนำเที่ยว คู่ค้า ฯลฯ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "ตัวแทน") ซึ่งเป็นผู้จัดการเรื่องการจองแทนบริษัทได้
- ผู้เช่าที่จองรถเช่าผ่านตัวแทนตามข้อ 7.1 สามารถแจ้งขอเปลี่ยนแปลงหรือยกเลิกการจองได้ผ่านตัวแทนดังกล่าว
ส่วนที่ 3 การเช่า
ข้อ 8 (การทำสัญญาเช่า)
- ผู้เช่าจะต้องระบุเงื่อนไขการเช่าตามที่ได้ระบุไว้ในข้อ 2.1 และบริษัทจะทำสัญญาเช่าโดยระบุเงื่อนไขการให้เช่ารถตามข้อตกลงและเงื่อนไข, รายการราคา ฯลฯ ยกเว้นในกรณีที่บริษัทไม่มีรถพร้อมให้เช่า หรือในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับรถเช่ามีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งที่ระบุไว้ในข้อ 9.1 หรือ 9.2 หรือในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับรถเช่าไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอจากบริษัทในแต่ละข้อด้านล่าง
- เมื่อทำสัญญาเช่าแล้ว ผู้เช่าจะต้องชำระค่าเช่าตามที่ได้ระบุไว้ในข้อ 11.1 ให้กับบริษัท
- ตามคำสั่งพื้นฐานที่ประกาศใช้โดยหน่วยงานที่มีอำนาจปกครอง (*1) บริษัทจำเป็นต้องให้ผู้เช่าแสดงใบอนุญาตขับขี่และสำเนาใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับขี่ที่ผู้เช่ากำหนด (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "ผู้ขับขี่") ตอนทำสัญญาเช่า เพื่อที่บริษัทจะได้กรอกชื่อและที่อยู่ของผู้ขับขี่ รวมถึงประเภทและหมายเลขใบอนุญาตขับขี่ (*2) ของผู้ขับขี่ในต้นฉบับทะเบียนการเช่ารถ และในใบรับรองการเช่ารถตามข้อกำหนดในข้อ 14.1 ด้วย ในกรณีเช่นนี้ หากผู้เช่าและผู้ขับขี่เป็นคนเดียวกัน ผู้เช่าจะต้องแสดงใบอนุญาตขับขี่ของตนเองต่อบริษัท รวมถึงให้สำเนาใบอนุญาตขับขี่ด้วย และหากผู้เช่าไม่ได้เป็นผู้ขับขี่เอง ผู้ขับขี่จะต้องแสดงใบอนุญาตขับขี่ต่อบริษัทและให้สำเนาด้วย
- (*1) คำสั่งพื้นฐานที่ประกาศใช้โดยหน่วยงานที่มีอำนาจปกครอง หมายถึง มาตรา 2(10) และ 2(11) ของ "คำสั่งพื้นฐานเกี่ยวกับรถเช่า" ที่ประกาศใช้โดยผู้อำนวยการสำนักงานการจราจรด้วยรถยนต์ (Automobile Traffic Bureau) กระทรวงที่ดิน โครงสร้างพื้นฐาน และการขนส่ง (Ministry of Land, Infrastructure and Transport) เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน พ.ศ. 2538 (Ji-Ryo No.138)
- (*2) ใบอนุญาตขับขี่ หมายถึง ใบอนุญาตขับขี่ที่ระบุไว้ในแบบฟอร์ม 14 ของมาตรา 19 ของกฎการบังคับใช้กฎหมายการจราจรทางถนนเกี่ยวกับใบอนุญาตขับขี่ที่ระบุไว้ในมาตรา 92 ของกฎหมายการจราจรทางถนน นอกจากนี้ ใบอนุญาตขับขี่ระหว่างประเทศหรือใบอนุญาตขับขี่ของประเทศอื่นๆ ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 107.2 ของกฎหมายการจราจรทางถนนจะถือว่าเป็นใบอนุญาตขับขี่เสมือนจริง
- ในการทำสัญญาเช่า บริษัทอาจขอให้ผู้เช่าและผู้ขับขี่แสดงเอกสารยืนยันตัวตนตามที่บริษัทกำหนดต่อบริษัท นอกเหนือจากการแสดงใบอนุญาตขับขี่ และบริษัทสามารถทำสำเนาเอกสารเหล่านั้นไว้ได้
- ในการทำสัญญาเช่า บริษัทจะขอให้ผู้เช่าและผู้ขับขี่แจ้งหมายเลขโทรศัพท์มือถือ หรือช่องทางการติดต่ออื่นๆ เพื่อใช้ในการติดต่อผู้เช่าและผู้ขับขี่ในช่วงที่เช่ารถ
- ในการทำสัญญาเช่า บริษัทอาจขอให้ผู้เช่าชำระเงินด้วยบัตรเครดิตหรือเงินสด หรือระบุให้ใช้วิธีการชำระเงินอื่นๆ ได้
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามคำร้องขอของบริษัทตามข้อ 8.2-8.6 บริษัทสามารถบอกยกเลิกการจอง พร้อมๆ กับปฏิเสธการทำสัญญาเช่าได้ อนึ่ง ในส่วนของเงินมัดจำค่าเช่า ฯลฯ ในกรณีนี้ จะดำเนินการตามที่ระบุไว้ในข้อ 4.5
ข้อ 9 (การปฏิเสธการทำสัญญาเช่า)
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่มีลักษณะเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ จะถือว่าไม่สามารถดำเนินการทำสัญญาเช่าได้
- ผู้ขับขี่ไม่แสดงใบอนุญาตขับขี่ที่จำเป็นต้องใช้ในการขับรถเช่า หรือหากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ยอมมอบสำเนาใบอนุญาตขับขี่ของผู้ขับขี่ให้แก่บริษัทแม้บริษัทจะได้ร้องขอแล้ว
- เห็นว่าผู้เช่าหรือผู้ขับขี่มีอาการมึนเมาสุรา
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่แสดงอาการเป็นพิษ เช่น พิษจากยาเสพติด ยากระตุ้น ทินเนอร์ ฯลฯ
- หากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่เจตนาที่จะเดินทางพร้อมกับเด็กอายุต่ำกว่า 6 ปี แต่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ติดตั้งเบาะนั่งสำหรับเด็กในรถเช่า
- บริษัทเห็นว่าผู้เช่าหรือผู้ขับขี่เป็นสมาชิกของสมาคมที่ก่ออาชญากรรม หรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับสมาคมที่ก่ออาชญากรรม หรือมีความเกี่ยวข้องกับสมาคมหรือองค์กรดังกล่าว หรือเกี่ยวข้องกับสมาชิกของสมาคมหรือองค์กรดังกล่าว
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่มีลักษณะเป็นไปตามข้อใดข้อหนึ่งต่อไปนี้ บริษัทขอสงวนสิทธิ์ในการปฏิเสธการทำสัญญาเช่า
- ผู้ขับขี่ที่ระบุไว้ตอนจองไม่ใช่ผู้ขับขี่คนเดียวกับที่มาทำสัญญาเช่า
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่มีประวัติขาดชำระค่าเช่าหรือค่าใช้จ่ายอื่นใดที่ต้องชำระให้บริษัทจากการเช่าในอดีต
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามข้อ 17 เมื่อครั้งที่เช่ารถจากบริษัทในอดีต
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่กระทำการใดๆ ที่ระบุไว้ในข้อ 18.6 หรือ 25.1 ในการเช่ารถในอดีต (รวมถึงการเช่ารถจากบริษัทให้บริการเช่ารถอื่นๆ ด้วย)
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ถูกปฏิเสธความคุ้มครองของประกันรถยนต์ เนื่องจากเคยมีประวัติละเมิดข้อตกลงและเงื่อนไขสำหรับการเช่าหรือประกัน
- เมื่อผู้เช่าหรือผู้ขับขี่มีพฤติกรรมรุนแรง, กล่าววาจาหยาบคาย หรือสั่งให้ทำเกินกว่าหน้าที่กับพนักงานของบริษัท หรือผู้เกี่ยวข้องคนอื่นๆ มากเกินความเหมาะสมในการติดต่อกับทางบริษัท
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ทำลายความน่าเชื่อถือของบริษัทหรือแทรกแซงธุรกิจของบริษัทด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง หรือการใช้วิธีการหลอกลวงหรือใช้กำลัง
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไขที่ได้มีการระบุไว้ต่างหาก
- กรณีอื่นๆ ที่บริษัทเห็นว่าไม่เหมาะสม
- ในกรณีตามเหตุการณ์ข้อ 9.1 และ 9.2 หากผู้เช่าได้จองไว้แล้ว จะถือว่าการจองนั้นถูกยกเลิก และหากผู้เช่าได้ชำระค่ายกเลิกมาแล้ว บริษัทจะคืนเงินมัดจำให้แก่ผู้เช่า
ข้อ 10 (การจัดทำสัญญาเช่า ฯลฯ)
- สัญญาเช่าจะถือว่าสมบูรณ์เมื่อผู้เช่าชำระค่าเช่าให้บริษัท และบริษัทส่งมอบรถเช่าให้แก่ผู้เช่าเรียบร้อย ในกรณีนี้ เงินมัดจำหรือยอดเงินที่เทียบเท่ากับคูปองที่ออกโดยตัวแทน จะถูกหักออกจากค่าเช่าที่ต้องชำระบางส่วน
- การส่งมอบรถเช่าตามข้อ 10.1 จะเกิดขึ้นตามวันและเวลาที่เริ่มเช่าที่ระบุในข้อ 2.1 และสถานที่รับรถตามที่ระบุในข้อ 2.1
ข้อ 11 (ค่าเช่า)
- ค่าเช่า หมายถึง ยอดรวมของค่าใช้จ่ายต่างๆ ดังต่อไปนี้ บริษัทจะแสดงค่าใช้จ่ายแต่ละรายการและวิธีการคำนวณในรายการราคา
- ค่าเช่าพื้นฐาน
- ค่าอุปกรณ์เสริมพิเศษ
- ค่าคืนรถต่างสาขา (Drop-off Charge)
- ค่าน้ำมันหรือค่าชาร์จไฟฟ้า
- ค่าธรรมเนียมการส่งรถ/รับรถ
- ค่าสมัครประกันค่าเสียหายส่วนแรก
- ค่าธรรมเนียมอื่นๆ
- ค่าเช่าพื้นฐานจะเป็นไปตามราคาค่าเช่าที่บริษัทได้แจ้งไว้กับผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งทางบก สังกัดสำนักงานขนส่งเขต (ผู้อำนวยการของสำนักงานขนส่งทางบกจังหวัดเฮียวโงะ ฝ่ายตรวจสอบการเงินการบัญชีของสำนักงานขนส่งโกเบในจังหวัดเฮียวโงะ และผู้อำนวยการสำนักงานขนส่งทางบก สังกัดสำนักงานธุรการโอกินาว่าในจังหวัดโอกินาว่า ซึ่งจะใช้กับข้อ 14.1 ด้านล่างนี้ด้วย) และจะใช้ค่าเช่าพื้นฐานนี้ในขณะเช่า
- หากมีการเปลี่ยนแปลงค่าเช่าหลังจากที่จองไปแล้วตามข้อ 2 บริษัทจะคิดค่าเช่าที่ถูกกว่าระหว่างค่าเช่าตอนจองและค่าเช่าตอนเช่าจริง
- ในส่วนของค่าเช่าจะระบุไว้ในข้อบังคับบริษัทแยกต่างหาก
ข้อ 12 (การเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเช่า)
- หลังจากทำสัญญาเช่าไปแล้ว หากผู้เช่าต้องการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเช่าที่ได้ระบุไว้ตามข้อ 8.1 ผู้เช่าจะต้องได้รับการยินยอมล่วงหน้าจากบริษัท
- บริษัทอาจปฏิเสธการให้ความยินยอมในการเปลี่ยนแปลงเงื่อนไขการเช่าตามที่ระบุไว้ในข้อ 12.1 ได้ หากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดอุปสรรคในการดำเนินงานของบริษัท
- ในกรณีที่ผู้เช่าต้องการขยายเวลาเช่ารถตามข้อ 12.1 นอกจากระยะเวลาเช่าแล้ว จะถือว่ารายละเอียดอื่นๆ เหมือนกับสัญญาเช่าเดิม และผู้เช่าจะต้องชำระเงินค่าเช่าตามระยะเวลาการเช่าใหม่หลังเปลี่ยนแปลง
ข้อ 13 (การตรวจสอบ/การบำรุงรักษา และการยืนยัน)
- บริษัทจะให้เช่ารถเช่าที่ดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษาตามจำเป็นเรียบร้อยแล้ว ตามที่ระบุไว้ในมาตรา 48 ของกฎหมายยานพาหนะขนส่งทางถนน (Road Transport Vehicle Law) (การตรวจสอบและการบำรุงรักษาเป็นระยะ)
- บริษัทจะดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษารถตามที่กำหนดในมาตรา 47.2 ของกฎหมายพาหนะขนส่งทางถนน (Road Transport Vehicle Law) (การตรวจสอบและการบำรุงรักษาประจำวัน) ซึ่งรวมถึงรถเช่าที่ได้รับจากการเช่าช่วงภายใต้ข้อกำหนดข้อ 34.1 ด้วย ในกรณีเช่าช่วง หากผู้ให้บริการรถเช่ารายอื่นที่จัดหารถเช่าที่เข้าข่ายมาให้ดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษาแบบเดียวกันเสร็จสิ้นแล้ว จะถือว่าการคอนเฟิร์มรายการตรวจสอบ ฯลฯ ที่เกี่ยวข้อง สามารถแทนการดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษาได้
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องยืนยันว่ารถเช่าได้รับการตรวจสอบและบำรุงรักษาอย่างเหมาะสมตามข้อ 13.1 และ 13.2 และรถเช่าไม่มีข้อบกพร่องใดๆ จากการตรวจสอบภายนอกและอุปกรณ์เสริมของรถเช่า รวมถึงรถเช่าดังกล่าวเป็นไปตามเงื่อนไขการเช่า
- ในกรณีที่มีการตรวจพบข้อบกพร่องใดๆ ของรถเช่าขณะที่ทำการตรวจรถตามข้อ 13.3 บริษัทจะทำการซ่อมแซม บำรุงรักษา ฯลฯ ที่จำเป็นทันที
- เบาะนั่งสำหรับเด็กและอุปกรณ์อื่นๆ ที่ต้องทำการติดตั้ง ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบโดยการติดตั้งอย่างถูกต้องด้วยตัวเอง
ข้อ 14 (การออกและการถือใบรับรองรถเช่า ฯลฯ)
- ขณะส่งมอบรถเช่า บริษัทจะออกใบรับรองรถเช่าให้แก่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ ตามที่อธิบดีสำนักงานขนส่งเขตกำหนด
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องนำใบรับรองรถเช่าที่ออกให้ตามข้อ 14.1 ติดตัวตลอดเวลา ตั้งแต่ตอนที่ได้รับมอบรถเช่าไปจนถึงตอนคืนรถเช่าให้กับบริษัท (ต่อจากนี้จะเรียกว่า “ช่วงที่ใช้รถเช่า”)
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องแจ้งบริษัททันทีหากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ทำใบรับรองรถเช่าสูญหาย
- ในกรณีที่จะคืนรถเช่า ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ต้องส่งใบรับรองนั้นคืนกลับมาให้บริษัทด้วย
ส่วนที่ 4 การใช้งาน
ข้อ 15 (ความรับผิดชอบในการควบคุมดูแล)
ในช่วงที่ใช้รถเช่า ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่มีหน้าที่ต้องเป็นผู้ดูแลรถเช่าที่ดี โดยการใช้อย่างดูแลรักษา
ข้อ 16 (การตรวจสอบและการบำรุงรักษาประจำวัน)
ในช่วงที่ใช้รถเช่า ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องดำเนินการตรวจสอบและบำรุงรักษารถเช่าประจำวันก่อนเริ่มใช้งานรถเช่าทุกวัน ตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 47.2 ของกฎหมายยานพาหนะขนส่งทางถนน (Road Transport Vehicle Law) (การตรวจสอบและการบำรุงรักษาประจำวัน)
ข้อ 17 (การกระทำต้องห้าม)
ห้ามไม่ให้ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่กระทำการใดๆ ดังต่อไปนี้ในระหว่างที่ใช้รถเช่า
- ใช้รถเช่าเพื่อดำเนินธุรกิจการขนส่งที่ใช้รถ หรือเพื่อวัตถุประสงค์อื่นที่คล้ายกันนี้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท หรือไม่ได้รับอนุญาต ฯลฯ ตามที่กฎหมายขนส่งทางถนน (Road Transport Law) กำหนด
- ใช้รถเช่าเพื่อวัตถุประสงค์อื่นๆ นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ หรือให้ผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้ขับขี่ที่มีชื่อระบุบนใบรับรองรถเช่าในข้อ 8.3 หรือบุคคลที่บริษัทอนุญาตขับรถเช่า
- ให้เช่าช่วงรถเช่า หรือนำรถเช่าไปใช้เป็นหลักประกัน หรือการกระทำใดๆ ที่จะเป็นการละเมิดสิทธิของบริษัท
- ปลอมแปลงหรือเปลี่ยนแปลงป้ายทะเบียนของรถเช่า หรือเปลี่ยนแปลงลักษณะดั้งเดิมของรถเช่าด้วยการรื้อประกอบ การออกแบบใหม่ ฯลฯ
- ใช้รถเช่าเพื่อทดสอบ หรือแข่งขันใดๆ หรือเพื่อลากจูง หรือผลักดันรถคันอื่นโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท
- ใช้รถเช่ากระทำการที่ผิดกฎหมายและกฎระเบียบ หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยของประชาชนและมาตรฐานความเหมาะสม
- ซื้อประกันความเสียหายให้กับรถเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท
- นำรถเช่าออกนอกประเทศญี่ปุ่น
- ทำให้รถยนต์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ชาร์จเสียหายหรือมีรอยเปื้อนจากการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ชาร์จที่ไม่เหมาะสม
- การถอดระบบนำทางรถยนต์ (Car Navigator) เครื่องเสียง หรืออุปกรณ์เสริมอื่นๆ ที่ติดตั้งบนรถเช่าออก รวมถึงการนำออกไปจากรถโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท และการใช้เครื่องมือในรถหรืออะไหล่ในรถ ฯลฯ นอกเหนือจากรถที่เช่า
- การให้สัตว์เลี้ยงโดยสารบนรถเช่า และนำสัตว์เลี้ยงออกมาจากกรงในรถ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัท
- การกระทำที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่บริษัทหรือผู้เช่ารายอื่นอย่างเห็นได้ชัด
- กระทำการใดๆ ที่ขัดกับเงื่อนไขการเช่าในข้อ 8.1
ข้อ 18 (มาตรการเกี่ยวกับการจอดรถผิดกฎหมายที่เกิดจากผู้เช่าหรือผู้ขับ ฯลฯ)
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จอดรถเช่าโดยขัดกับกฎหมายการจราจรทางถนน (Road Traffic Law) ในช่วงที่ใช้รถเช่า ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องไปแสดงตนที่สถานีตำรวจที่รับผิดชอบพื้นที่นั้น และชำระค่าปรับทันที รวมถึงชำระค่าลากจูงรถ ค่าเก็บรักษารถ ค่ารับรถ และค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจอดรถที่ผิดกฎหมายนี้
- ในกรณีที่ตำรวจแจ้งเรื่องการจอดรถที่ผิดกฎหมายของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่มายังบริษัท บริษัทจะติดต่อผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ และแจ้งให้ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไปย้ายรถเช่าหรือนำรถเช่าออกทันที พร้อมๆ กับให้ให้ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไปแสดงตัวที่สถานีตำรวจที่เกี่ยวข้องเมื่อสิ้นสุดช่วงที่ใช้รถเช่าหรือตามเวลาที่บริษัทได้แจ้งไว้ เพื่อทำตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป ซึ่งผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องปฏิบัติตาม อนึ่ง หากตำรวจได้ลากจูงรถเช่าไป บริษัทอาจไปรับรถเช่าคืนจากตำรวจได้หากบริษัทเห็นสมควร
- หลังจากบริษัทได้แจ้งผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ตามข้อ 18.2 แล้ว บริษัทจะสอบถามสถานะของการดำเนินการทางกฎหมายตามที่บริษัทเห็นสมควร เช่น ตรวจสอบใบสั่ง ใบแจ้งชำระเงิน ใบเสร็จค่าปรับ ฯลฯ และหากยังดำเนินการตามขั้นตอนไม่เสร็จสมบูรณ์ บริษัทจะดำเนินการแจ้งตามข้อ 18.2 ไปยังผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ต่อไปจนกว่าจะดำเนินการตามขั้นตอนเสร็จสิ้น อีกทั้งบริษัทจะขอให้ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ลงนามในหนังสือฉบับหนึ่ง (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "หนังสือรับทราบ") มีใจความว่า ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ยอมรับผิดเรื่องการจอดรถเช่าโดยผิดกฎหมาย ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องไปรายงานตัวที่สถานีตำรวจ และผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องปฏิบัติตนตามกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง และผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องปฏิบัติตามหนังสือฉบับนี้
- หากบริษัทพิจารณาแล้วเห็นว่าจำเป็น บริษัทอาจให้ความร่วมมือกับตำรวจในการเรียกร้องความรับผิดชอบเรื่องการจอดรถที่ผิดกฎหมายจากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ โดยการให้เอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ระบุไว้ เช่น หนังสือรับทราบ หรือใบรับรองรถเช่า ฯลฯ บริษัทอาจดำเนินการตามกฎหมายที่จำเป็น เช่น ส่งเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลให้กับคณะกรรมการความปลอดภัยสาธารณะแห่งชาติ โดยเอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคลนั้นรวมถึงหนังสือชี้แจง หนังสือรับทราบ ใบรับรองรถเช่า และเอกสารอื่นๆ ที่ระบุในมาตรา 51.4(6) ของกฎหมายการจราจรทางถนน และรายงานข้อเท็จจริงเรื่องการจอดรถที่ผิดกฎหมาย ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องยินยอมต่อการกระทำดังกล่าวที่บริษัทอาจดำเนินการ
- ในกรณีที่บริษัทได้รับคำสั่งให้ชำระค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายตามมาตรา 51.4(1) ของกฎหมายการจราจรทางถนน และได้ชำระค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายดังกล่าวแทนผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไปแล้ว หรือบริษัทมีค่าใช้จ่ายใดๆ ในการตามหาผู้เช่า หรือในการเคลื่อนย้าย, เก็บรักษา หรือไปรับรถเช่า ฯลฯ บริษัทจะเรียกร้องค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่เป็นยอดเงินข้อ (1) และข้อ (2) (ต่อจากนี้จะเรียกยอดเงินรวมข้อ (1) และข้อ (2) ว่า "ค่าปรับจอดรถผิดกฎหมาย") และยอดเงินที่รวมค่าใช้จ่ายข้อที่ (3) ที่จะกล่าวถึงต่อไปนี้ (ต่อจากนี้จะเรียกยอดเงินรวมข้อ (1) ถึงข้อ (3) ว่า “ค่าใช้จ่ายเนื่องมาจากการจอดรถผิดกฎหมาย”) จากผู้เช่า ในกรณีเช่นนี้ผู้เช่าจะต้องชำระค่าใช้จ่ายเนื่องมาจากการจอดรถผิดกฎหมายภายในวันที่บริษัทกำหนด
- จำนวนเงินจะเท่ากับค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมาย
- ค่าปรับสำหรับการจอดรถผิดกฎหมายที่บริษัทกำหนดให้ชำระต่างหาก
- ค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการตามหาผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ หรือใช้ในการลากจูง เก็บรักษา รับรถ ฯลฯ ที่เกิดกับรถเช่า
- ในกรณีที่บริษัทได้รับคำสั่งให้ชำระเงินค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายในข้อก่อนหน้า หรือผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ชำระเงินเต็มจำนวนตามที่ระบุไว้ในข้อเดียวกันภายในวันที่บริษัทกำหนด บริษัทจะดำเนินการตามมาตรการ เช่น บันทึกชื่อ วันเดือนปีเกิด ที่อยู่ เลขใบอนุญาตขับขี่ ฯลฯ ของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ลงไปในระบบบริหารจัดการข้อมูลของ All Japan Rent-A-Car Association (สมาคมเช่ารถประเทศญี่ปุ่น) (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "ระบบ All Japan Rent-A-Car") และในรายการแบล็กลิสต์ผู้เช่าของบริษัท (ต่อจากนี้จะเรียกว่า “ระบบ All Japan Rent-A-Car” โดยรวมกับระบบ All Japan Rent-A-Car
- หากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ทำตามคำสั่งของบริษัทในการรับผิดชอบความผิดตามข้อ 18.2 บริษัทสามารถเรียกเก็บค่าปรับจอดรถผิดกฎหมายได้ อีกทั้งหากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ทำตามคำร้องขอในการลงนามในหนังสือรับทราบตามข้อ 18.3 บริษัทสามารถเรียกเก็บค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายได้เช่นกัน
- ถึงแม้จะมีการระบุไว้ตามข้อ 18.6 แต่หากบริษัทได้รับการชำระค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายและยอดเงินทั้งหมดของค่าใช้จ่ายตามที่ระบุไว้ในข้อ 18.5 (3) จากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ บริษัทจะไม่ดำเนินการตามมาตรการ เช่น การบันทึกประวัติในระบบ All Japan Rent-A-Car ตามที่ระบุไว้ในข้อที่ 6 และจะลบข้อมูลใดๆ ที่ได้บันทึกลงในระบบ All Japan Rent-A-Car ไปแล้ว
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ได้ชำระเงินทั้งหมดที่บริษัทได้เรียกเก็บตามข้อ 18.5 เรียบร้อยแล้ว คำสั่งให้ชำระค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายถูกเพิกถอน เนื่องจากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ได้ชำระค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายในภายหลัง อีกทั้งการดำเนินการฟ้องร้อง ฯลฯ เมื่อบริษัทได้รับค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายคืนมาแล้ว บริษัทจะคืนเงินจำนวนเท่ากับค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายให้กับผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ โดยหักจากเงินค่าใช้จ่ายเนื่องมาจากการจอดรถผิดกฎหมายที่บริษัทรับมาแล้ว หากบริษัทได้รับเงินค่าปรับการจอดรถผิดกฎหมายตามข้อ 18.7 ก็จะดำเนินการเช่นเดียวกัน
- หากมีการบันทึกประวัติลงในระบบ All Japan Rent-A-Car ตามข้อ 18.6 และมีการเพิกถอนคำสั่งให้ชำระเงินค่าปรับการจอดรถที่ผิดกฎหมายเนื่องจากมีการชำระเงินค่าปรับแล้ว ฯลฯ หรือเมื่อบริษัทได้รับการชำระเงินจำนวนทั้งหมดที่บริษัทเรียกให้ชำระตามข้อ 18.5 แล้ว บริษัทจะลบข้อมูลใดๆ ที่ได้บันทึกลงในระบบ All Japan Rent-A-Car ไปแล้ว
ส่วนที่ 5 การคืนรถ
ข้อ 19 (ความรับผิดชอบในการคืนรถเช่า)
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องนำรถเช่ามาคืนที่สถานที่คืนรถเช่าที่กำหนดก่อนจะสิ้นสุดระยะเวลาการเช่ารถ
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่กระทำตามข้อกำหนดของข้อก่อนหน้า ผู้เช่าจะต้องชำระเงินชดเชยให้แก่บริษัทสำหรับความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้นจากสิ่งเหล่านั้น
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่นำรถเช่ามาคืนภายในระยะเวลาการเช่ารถ อันเป็นผลมาจากภัยพิบัติตามธรรมชาติหรือเหตุสุดวิสัยอื่นใด ผู้เช่าและผู้ขับขี่ไม่ต้องชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นจากสาเหตุนั้น หากเกิดกรณีเช่นนี้ ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องติดต่อบริษัททันทีและทำตามคำแนะนำของบริษัท
ข้อ 20 (การตรวจสอบรถเช่าเมื่อคืนรถ ฯลฯ)
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องคืนรถเช่าต่อหน้าตัวแทนของบริษัท ในกรณีนี้ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องนำรถเช่ามาคืนในสภาพเดียวกับตอนรับรถ ยกเว้นการสึกหรอจากการใช้งานทั่วไป และการลดลงตามธรรมชาติของแบตเตอรี่ในกรณีที่เป็นรถยนต์ไฟฟ้า
- ในตอนที่นำรถเช่ามาคืน ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องตรวจสอบเพื่อยืนยันว่าไม่ได้ทิ้งสัมภาระของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ หรือผู้โดยสารใดๆ ไว้ในรถเช่าให้เรียบร้อยก่อนทำการคืนรถ
- ในกรณีที่ผู้เช่ายังมีค่าเช่าค้างชำระ ฯลฯ ผู้เช่าจะต้องจัดการชำระค่าใช้จ่ายให้เรียบร้อยก่อนทำการคืนรถ
- นอกจากข้อก่อนหน้า และยกเว้นในกรณีที่มีการทำสัญญาพิเศษแล้ว ในการคืนรถเช่า หากเชื้อเพลิง เช่น น้ำมันเบนซิน น้ำมันดีเซล ฯลฯ ไม่ถูกเติม (มีไม่เต็มถัง) ผู้เช่าจะต้องชำระค่าเชื้อเพลิงที่คำนวณโดยใช้วิธีการที่บริษัทกำหนดให้กับบริษัททันที
ข้อ 21 (ค่าเช่าในกรณีเปลี่ยนระยะเวลาการเช่า)
ในกรณีที่ผู้เช่าเปลี่ยนระยะเวลาการเช่าตามข้อ 12.1 ผู้เช่าจะต้องชำระค่าเช่าของระยะเวลาการเช่าใหม่หลังเปลี่ยนแปลง
หากผู้เช่านำรถเช่ามาคืนเกินระยะเวลาการเช่าโดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทตามข้อ 12.1 ผู้เช่าจะต้องชำระค่าปรับเป็นสองเท่าของค่าใช้จ่ายส่วนเกินตามเวลาที่เกิน
- หากผู้เช่าเปลี่ยนสถานที่คืนรถที่ได้ระบุไว้ตามข้อ 12.1 ผู้เช่าจะต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการส่งต่อรถเช่าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานที่คืนรถ
- ในกรณีที่ผู้เช่านำรถเช่าไปคืนที่สถานที่อื่นใดที่ไม่ใช่สถานที่คืนรถที่ระบุไว้โดยไม่ได้รับความยินยอมจากบริษัทตามข้อ 12.1 ผู้เช่าจะต้องชำระค่าปรับสำหรับการเปลี่ยนสถานที่คืนรถดังต่อไปนี้
ค่าปรับสำหรับการเปลี่ยนสถานที่คืนรถ = ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในการส่งต่อรถเช่าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานที่คืนรถ x 300%
ข้อ 23 (มาตรการจัดการในกรณีที่ไม่คืนรถ)
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่นำรถเช่ามาคืน ณ สถานที่คืนรถตามที่กำหนดหลังจากสิ้นสุดระยะเวลาการเช่ารถ และหากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ปฏิบัติตามข้อเรียกร้องของบริษัทให้คืนรถ หรือหากบริษัทเห็นว่ารถเช่าไม่สามารถถูกนำมาคืนได้เพราะไม่ทราบที่อยู่ของผู้เช่าหรือเพราะเหตุผลอื่นใด บริษัทอาจดำเนินการทางกฎหมาย เช่น แจ้งความคดีอาญา และอาจรายงานเรื่องการไม่คืนรถต่อ All Japan Rent-A-Car Association พร้อมทั้งอาจดำเนินตามมาตรการอื่นๆ เช่น การบันทึกข้อมูลส่วนบุคคลลงในระบบของ All Japan Rent-A-Car Association
- ในกรณีที่เกิดเหตุการณ์ไม่คืนรถเช่าตามข้อ 23.1 บริษัทจะใช้ทุกมาตรการที่จำเป็นต่อการหาที่อยู่ของรถเช่าคันดังกล่าว ซึ่งรวมถึงการสอบถามไปทางผู้ที่เกี่ยวข้อง เช่น ครอบครัว ญาติหรือที่ทำงานของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ และใช้ระบบหาข้อมูลตำแหน่งยานพาหนะ ฯลฯ
- ในกรณีที่เข้าข่ายตามข้อ 23.1 ผู้เช่าจะต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายทั้งหมดที่เกิดกับบริษัทตามที่กำหนดในข้อ 28 และนอกจากนั้นยังต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดกับบริษัทในการไปรับรถเช่า และตามหาผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ด้วย
ค่าปรับสำหรับการเปลี่ยนสถานที่คืนรถ = ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต้องใช้ในการส่งต่อรถเช่าอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนสถานที่คืนรถ x 300%
ส่วนที่ 6 มาตรการในกรณีรถเสีย เกิดอุบัติเหตุ หรือการโจรกรรม
ข้อ 24 (มาตรการในกรณีรถเสีย)
หากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่พบว่ามีความผิดปกติใดๆ กับรถเช่า หรือรถเช่าเสียระหว่างที่ใช้รถเช่า ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องหยุดใช้รถเช่าทันที และติดต่อบริษัท ในขณะเดียวกันก็ให้ปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัท
ข้อ 25 (มาตรการกรณีเกิดอุบัติเหตุ)
- ในกรณีที่รถเช่าเกิดอุบัติเหตุในช่วงที่ใช้รถเช่า ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องหยุดใช้งานรถเช่าทันที และปฏิบัติตามที่กฎหมายและกฎระเบียบกำหนด ไม่ว่าอุบัติเหตุนั้นจะร้ายแรงหรือไม่ก็ตาม จากนั้นให้ปฏิบัติตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- รายงานสถานการณ์ของอุบัติเหตุต่อบริษัททันที และปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัท
- หากรถเช่าจำเป็นต้องได้รับการซ่อมแซมตามคำแนะนำของบริษัทที่ให้ไว้ตามข้อ 25.1(1) การซ่อมแซมดังกล่าวจะทำที่บริษัทหรือที่อู่ซ่อมรถที่บริษัทกำหนด เว้นเสียแต่ว่าบริษัทยินยอมให้เป็นอย่างอื่น
- ให้ความร่วมมือกับบริษัทและบริษัทประกันภัยที่บริษัทได้ทำสัญญาไว้ในการสอบสวนเกี่ยวกับอุบัติเหตุ และนำส่งเอกสารที่จำเป็นโดยไม่รอช้า ฯลฯ
- หากมีการตกลงยอมความ หรือทำข้อตกลงอื่นกับคู่กรณีในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุ ต้องได้รับความยินยอมจากบริษัทก่อน
- นอกจากปฏิบัติตามขั้นตอนที่ระบุไว้ในข้อ 27.1 แล้ว ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบในการจัดการกับอุบัติเหตุ และแก้ไขปัญหาด้วยความรับผิดชอบของตนเอง
- บริษัทจะให้คำแนะนำแก่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ในการจัดการกับอุบัติเหตุ และให้ความร่วมมือกับผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ในการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับอุบัติเหตุ
- บริษัทจะบันทึกสภาวะแวดล้อมต่างๆ เช่น แรงปะทะ หรือการเบรกกะทันหัน ฯลฯ เพื่อตรวจสอบสภาวะแวดล้อมขณะที่เกิดอุบัติเหตุ หากมีการติดตั้งอุปกรณ์บันทึกอุบัติเหตุรถยนต์
- บริษัทจะดำเนินการตามมาตรการต่างๆ ที่บริษัทเห็นว่าจำเป็น เช่น การพิสูจน์ว่าบันทึกที่ได้รับตามข้อ 27.4 ถูกต้อง
ข้อ 26 (มาตรการกรณีรถถูกโจรกรรม)
ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องปฏิบัติตามมาตรการดังต่อไปนี้ในกรณีที่รถเช่าถูกโจรกรรม หรือเกิดความเสียหายอื่นใดระหว่างช่วงที่ใช้รถเช่า
- แจ้งความต่อตำรวจที่ใกล้ที่สุดในทันที
- แจ้งบริษัทให้ทราบถึงสถานการณ์ของความเสียหาย ฯลฯ ในทันที และปฏิบัติตามคำแนะนำของบริษัท
- ให้ความร่วมมือกับบริษัทและบริษัทประกันภัยที่บริษัทได้ทำสัญญาไว้ในการสืบสวนเกี่ยวกับการโจรกรรมและความเสียหายอื่นๆ และนำส่งเอกสารที่จำเป็นโดยไม่รอช้า ฯลฯ
ข้อ 27 (กรณียกเลิกสัญญาเช่าในกรณีที่รถเช่าไม่สามารถใช้งานได้)
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่สามารถใช้รถเช่าต่อไปได้เนื่องรถจากเช่าเสีย เกิดอุบัติเหตุ ถูกโจรกรรม หรือด้วยสาเหตุอื่นใด (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "รถเสีย ฯลฯ") ในระหว่างช่วงที่ใช้รถเช่าสัญญาเช่าจะสิ้นสุดลง
- ในกรณีตามข้อก่อนหน้า ผู้เช่าจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรับรถ ซ่อมรถ ฯลฯ ของรถเช่า และบริษัทจะไม่คืนเงินค่าเช่าที่บริษัทได้รับมาแล้วให้กับผู้เช่า อย่างไรก็ตามข้อนี้จะไม่ถูกนำมาบังคับใช้หากรถเสีย ฯลฯ เกิดจากสาเหตุที่ระบุไว้ในข้อ 3 หรือข้อ 5
- ในกรณีที่เหตุรถเสีย ฯลฯ ที่เกิดจากข้อบกพร่อง ความผิดปกติของรถเช่าที่มีอยู่เดิมตั้งแต่ก่อนที่จะส่งมอบรถให้กับผู้เช่าซึ่งไม่เป็นไปตามเงื่อนไขการให้เช่า จะมีการทำสัญญาเช่าฉบับใหม่ และผู้เช่าจะได้รับรถเช่าทดแทนจากบริษัท สำหรับเงื่อนไขของรถเช่าทดแทนให้เป็นไปตามข้อ 5.2
- ในกรณีที่ผู้เช่าไม่ได้รับการจัดหารถทดแทนให้ตามข้อ 29.3 บริษัทจะคืนค่าเช่าที่ได้รับมาแล้วให้กับผู้เช่าทั้งหมด เช่นเดียวกับในกรณีที่บริษัทไม่สามารถจัดหารถทดแทนให้ได้
- ในกรณีที่เหตุรถเสีย ฯลฯ เกิดจากสาเหตุที่ไม่ได้มาจากผู้เช่า ผู้ขับขี่ หรือบริษัท บริษัทจะคืนเงินส่วนที่เหลือหลังจากหักค่าเช่าที่ได้รับมาแล้ว ตามความสอดคล้องของระยะเวลาที่นับจากการเริ่มเช่าจนถึงการสิ้นสุดสัญญาให้แก่ผู้เช่า
- นอกเหนือไปจากมาตรการที่ได้ระบุไว้ในข้อนี้ ผู้เช่าจะต้องไม่กล่าวโทษบริษัทในเรื่องอื่นใดที่เกี่ยวข้องกับความเสียหาย หรือความสูญเสียที่เกิดจากการที่ไม่สามารถใช้รถเช่าได้ แต่จะยกเว้นในกรณีที่เกิดจากความประมาทอย่างร้ายแรง หรือเกิดขึ้นโดยเจตนาของบริษัท เช่น ความขัดข้องของเครื่องยนต์ เป็นต้น
ส่วนที่ 7 การชดเชยและค่าสินไหมทดแทน
ข้อ 28 (การชดเชยและค่าสินไหมทดแทนธุรกิจหยุดชะงัก)
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่สร้างความเสียหายต่อบุคคลที่สามหรือบริษัทในระหว่างที่ใช้รถเช่า ผู้เช่าจะต้องชดเชยค่าเสียหายนั้น ซึ่งรวมถึงรถเช่าที่ได้รับการเช่าช่วงภายใต้ข้อกำหนดในข้อ 34.1 แต่จะยกเว้นในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่
- ตามความเสียหายต่อบริษัทตามที่ระบุในข้อก่อนหน้า ผู้เช่าจะต้องชำระเงินชดเชยค่าเสียหาย และค่าชดเชยในการดำเนินธุรกิจให้แก่บริษัท เป็นจำนวนเงินตามที่กำหนดไว้ในรายการราคาหรือชดเชยค่าสินไหมทดแทนธุรกิจหยุดชะงัก (Non Operation Charge) สำหรับความเสียหายจากการที่รถไม่สามารถใช้งานได้เพราะเกิดอุบัติเหตุ, การโจรกรรม, เครื่องยนต์ขัดข้อง, การทำลายรถเช่า หรือการทำให้รถเช่ามีกลิ่น ฯลฯ แต่จะยกเว้นในกรณีที่ไม่ได้เกิดจากความผิดพลาดของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่
ข้อ 29 (ประกันและค่าสินไหมทดแทน)
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบค่าชดเชยตามที่กำหนดไว้ในข้อ 28.1 จะต้องมีการชำระเงินประกันหรือค่าสินไหมทดแทนตามสัญญาประกันวินาศภัยที่บริษัทได้ทำไว้ให้กับรถเช่าหรือระบบค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทกำหนด แต่ไม่เกินจำนวนสูงสุดดังต่อไปนี้
- การบาดเจ็บทางร่างกาย/เสียชีวิตของบุคคลอื่น: ไม่จำกัดต่อ 1 คน (รวมถึงนโยบายการประกันภัยรถยนต์ประเภทความรับผิดต่อบุคคลที่สาม)
- ความเสียหายต่อทรัพย์สิน: ไม่จำกัดต่อ 1 อุบัติเหตุ (ค่าเสียหายส่วนแรก 50,000 เยน)
- ความคุ้มครองการบาดเจ็บส่วนบุคคล: สูงสุด 30 ล้านเยนต่อ 1 คน
- ความคุ้มครองต่อรถยนต์: ราคาตลาดของรถยนต์ต่อ 1 อุบัติเหตุ (ค่าเสียหายส่วนแรก 50,000 เยน)
- จะไม่มีการชำระเงินประกันหรือค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุไว้ในข้อ 31.1 หากมีการใช้ข้อยกเว้นในนโยบายการประกันภัยรถยนต์ประเภทความรับผิดต่อบุคคลที่สาม หรือการชำระค่าสินไหมทดแทน
- จะไม่มีการชำระเงินประกันหรือค่าสินไหมทดแทนตามที่ระบุในข้อ 31.1 หากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ละเมิดข้อกำหนดที่ระบุไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขการเช่านี้
- ผู้เช่าจะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายส่วนที่ประกันหรือค่าสินไหมทดแทนไม่ครอบคลุม หรือค่าเสียหายส่วนที่เกินจากประกันหรือค่าสินไหมทดแทนดังกล่าวตามที่ระบุไว้ในข้อ 1 อย่างไรก็ตามในกรณีที่ความเสียหายนั้นเกิดจากภัยพิบัติที่ถูกระบุว่าเป็นภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุดตามมาตรา 2 ของพระราชบัญญัติเกี่ยวกับมาตรการพิเศษทางการเงิน ฯลฯ ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อรองรับภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด (กฎหมายเลขที่ 150 ของปี พ.ศ.2505) (ต่อจากนี้จะเรียกว่า "ภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด") หรือความเสียหายที่เกิดจากภัยธรรมชาติประเภทเดียวกัน เป็นเหตุทำให้รถเช่าสูญหาย ถูกทำลาย หรือเกิดความเสียหายใดๆ ในพื้นที่ที่เกิดภัยพิบัติที่ร้ายแรงที่สุด ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะไม่ต้องชดใช้ค่าเสียหาย เว้นแต่ความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำโดยเจตนาหรือความประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่
- หากบริษัทได้ชำระค่าเสียหายที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ต้องรับผิดชอบไปแล้ว ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องชำระเงินจำนวนนั้นคืนแก่บริษัทในทันที
- ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะต้องรับผิดชอบค่าเสียหายจำนวนเท่ากับค่าเสียหายส่วนแรกของประกันหรือค่าสินไหมทดแทนตามที่กำหนดไว้ในข้อ 1 (2) หรือ (4) อย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ผู้เช่าชำระค่าสมัครประกันค่าเสียหายส่วนแรกให้แก่ทางบริษัทแล้วล่วงหน้า บริษัทจะเป็นผู้รับผิดชอบชำระเงินค่าเสียหายเท่ากับค่าเสียหายส่วนแรกเอง
- ค่าสินไหมทดแทนนี้จะไม่มีผลบังคับใช้ในกรณีที่เป็นอุบัติเหตุที่ไม่ได้แจ้งตำรวจหรือสำนักงานขายของบริษัท, อุบัติเหตุที่เข้าข่ายในแต่ละข้อย่อยของข้อ 9 หลังจากให้เช่ารถเช่า, อุบัติเหตุที่เข้าข่ายแต่ละข้อย่อยของข้อ 17 และอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในช่วงเกินระยะเวลาการเช่าโดยไม่ได้รับอนุญาต
- จำนวนเงินเทียบเท่ากับค่าประกันของสัญญาประกันวินาศภัยที่กำหนดในข้อ 1 และจำนวนเงินเทียบเท่ากับค่าสมัครของค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทกำหนดรวมอยู่ในค่าเช่า
ส่วนที่ 8 การยกเลิกสัญญาเช่า
ข้อ 30 (การยกเลิกสัญญาเช่า)
หากผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ละเมิดข้อตกลงและเงื่อนไขในช่วงที่ใช้รถเช่า หรือถ้าเกิดกรณีใดๆ ตามที่ระบุไว้ในข้อ 9.1 บริษัทสามารถยกเลิกสัญญาเช่าโดยไม่ต้องบอกกล่าวหรือแจ้งเตือนใดๆ และสั่งให้ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่คืนรถเช่าได้ทันที ในกรณีนี้บริษัทจะคืนเงินค่าเช่าที่รับมาแล้วซึ่งเป็นเงินที่เหลือหลังหักค่าเช่าจากระยะเวลาที่ให้ยืมจนถึงตอนที่ยกเลิก
ในกรณีที่เข้าข่ายการยกเลิกตามข้อก่อนหน้า ผู้เช่าจะต้องชำระค่าเสียหายที่เกิดขึ้นแก่บริษัท
ข้อ 31 (การยกเลิกสัญญาระหว่างเช่า)
- แม้ในช่วงที่ใช้รถเช่า ผู้เช่าสามารถยกเลิกสัญญาเช่าได้เมื่อได้รับความยินยอมจากบริษัท และชำระค่าธรรมเนียมการยกเลิกระหว่างการเช่าตามที่ระบุในข้อ 31.2 ในกรณีนี้บริษัทจะคืนเงินค่าเช่าที่เหลือหลังจากหักค่าเช่าส่วนของระยะเวลาที่นับจากการเริ่มเช่าจนถึงการคืนรถ เว้นแต่จะมีกำหนดไว้เป็นอย่างอื่น
- ในกรณีที่ยกเลิกสัญญาเช่าตามข้อ 31.1 ผู้เช่าจะต้องชำระค่าธรรมเนียมการยกเลิกระหว่างการเช่า: ค่าธรรมเนียมการยกเลิกระหว่างการเช่า = [(ค่าเช่าพื้นฐานตลอดระยะเวลาเช่าทั้งหมด) ลบ (ค่าเช่าพื้นฐานของช่วงระหว่างการรับรถจนถึงการคืนรถ)] x 50%
ส่วนที่ 9 ข้อมูลส่วนบุคคล
ข้อ 32 (จุดประสงค์ในการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล)
- บริษัทได้รับและจะใช้ข้อมูลส่วนบุคคล โดยมีจุดประสงค์ดังต่อไปนี้
- เพื่อดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนดเป็นเงื่อนไขของใบอนุญาตประกอบธุรกิจ ซึ่งร่วมถึงแต่ไม่จำกัดเพียงการจัดทำใบรับรองรถเช่าพร้อมกับการทำสัญญาเช่า ในฐานะที่เป็นผู้ประกอบการธุรกิจการให้เช่ารถที่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 80.1 ของกฎหมายการขนส่งทางถนน
- เพื่อแนะนำรถเช่า หรือบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านี้แก่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่
- เพื่อตรวจสอบตัวตนหรือคัดกรองผู้ที่ลงทะเบียนขอเช่าหรือผู้ขับขี่ขณะที่ทำสัญญาเช่า
- เพื่อแนะนำรถเช่า รถมือสอง หรือผลิตภัณฑ์อื่นๆ ที่บริษัทเสนอ จัดหาบริการอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง และแจ้งให้ทราบเรื่องการจัดงานอีเวนท์ แคมเปญ ฯลฯ ผ่านช่องทางต่างๆ เช่น การส่งสื่อส่งเสริมการขาย และการส่งผ่านทางอีเมล์ไปยังผู้เช่าหรือผู้ขับขี่
- ทำแบบสอบถามสำหรับผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ โดยมีจุดประสงค์เพื่อวางแผนและพัฒนาสินค้าและบริการของบริษัท และเพื่อศึกษาหามาตรการยกระดับพัฒนาความพึงพอใจของลูกค้า
- เพื่อเก็บข้อมูลทางสถิติและวิเคราะห์ข้อมูลส่วนบุคคล และจัดทำฐานข้อมูลทางสถิติที่ถูกปรับแต่งให้ไม่สามารถระบุตัวตนเจ้าของข้อมูลได้
- หากบริษัทประสงค์จะใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่เพื่อจุดประสงค์อื่นใดนอกเหนือจากที่ระบุไว้ในข้อ 34.1 บริษัทจะดำเนินการโดยมีการแจ้งจุดประสงค์เฉพาะล่วงหน้า
- ในวัตถุประสงค์ที่กำหนดในแต่ละข้อย่อยในข้อ 32.1 ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ยินยอมให้ผู้ให้บริการรถเช่าที่เกี่ยวข้องใช้ข้อมูลส่วนบุคคลของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ร่วมด้วย ในกรณีที่มีการเช่าช่วงตามข้อกำหนดข้อที่ 34.1 จากบริษัท JR Rent-A-Car และบริษัทต่างๆ ที่เป็นแฟรนไชส์จากบริษัทเดียวกัน
ข้อ 33 (การยินยอมให้บันทึกประวัติและการใช้ข้อมูลส่วนบุคคล)
หากผู้เช่ามีลักษณะตามข้อใดข้อหนึ่งดังต่อไปนี้ ผู้เช่ายินยอมให้นำข้อมูลส่วนบุคคล ชื่อ, วันเดือนปีเกิด, เลขใบอนุญาตขับขี่ ฯลฯ ของผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ ไปลงบันทึกประวัติลงในระบบ All Japan Rent-A-Car เป็นระยะเวลาไม่เกิน 7 ปี และยินยอมให้ All Japan Rent-A-Car Association หน่วยงานของ Rent-A-Car Association ในท้องถิ่น และบริษัทให้เช่ารถที่เป็นสมาชิกของ Rent-A-Car Association ใช้ข้อมูลดังกล่าวในการคัดกรองก่อนทำสัญญาเช่า
- ในกรณีที่บริษัทได้รับคำสั่งให้ชำระค่าปรับสำหรับการจอดรถผิดกฎหมายตามมาตรา 51.4(1) ของกฎหมายการจราจรทางถนน
- ในกรณีที่ผู้เช่าหรือผู้ขับขี่ไม่ได้ชำระเงินอันเนื่องมาจากการจอดรถผิดกฎหมายตามที่ระบุไว้ในข้อ 18.5 ให้กับบริษัทครบทั้งจำนวน
- ในกรณีที่บริษัทเห็นว่าไม่มีการคืนรถเช่าตามที่กำหนดในข้อ 23.1
ส่วนที่ 10 เบ็ดเตล็ด
ข้อ 34 (การให้เช่าช่วง)
- แม้จะมีข้อกำหนดระบุไว้ในข้อ 8.1 แต่บริษัทสามารรถรับรถเช่าจากผู้ให้บริการรถเช่ารายอื่นมาปล่อยเช่าให้ผู้เช่าได้ ในกรณีนี้ บริษัทจะปฏิบัติตามหัวข้อดังต่อไปนี้ (ต่อจากนี้จะเรียกว่า “การให้เช่าช่วง”)
- ในกรณีที่เกิดปัญหา เช่น อุบัติเหตุหรือรถเสีย ฯลฯ หากข้อตกลงและเงื่อนไขของบริษัทเอื้อประโยชน์แก่ผู้ใช้งานมากกว่า ก็จะบังคับใช้ข้อกำหนดและเงื่อนไขของบริษัทแทนข้อตกลงและเงื่อนไขของผู้ให้บริการรถเช่ารายอื่นที่จัดหารถเช่าที่เข้าข่ายให้
- ใบรับรองรถเช่าจะต้องมีรูปแบบพิเศษตามที่กำหนดในข้อ 34.3
- ต้องมีการแนบข้อตกลงและเงื่อนไขของผู้ให้บริการรถเช่ารายอื่นที่จัดหารถเช่าให้
- นอกเหนือจากกรณีข้อ 34.1 (1) ในกรณีที่ให้เช่าช่วง จะบังคับใช้ข้อตกลงและเงื่อนไขของผู้ให้บริการรถเช่ารายอื่นที่จัดหารถเช่าที่เข้าข่ายให้
- “ใบรับรองรถเช่า” ที่กำหนดในคำสั่งพื้นฐานในกรณีให้เช่าช่วง จะต้องอยู่ในรูปแบบที่กำหนดโดยผู้ให้บริการรถเช่ารายอื่นที่จัดหารถเช่าที่เข้าข่ายให้ หรือเป็นรูปแบบเฉพาะสำหรับใช้ในการให้เช่าช่วงที่บริษัทกำหนดขึ้นมาต่างหาก
- ในการให้เช่าช่วง หากยานพาหนะที่ให้เช่ายืมเกิดเสียหรือมีปัญหาอื่นๆ เกิดขึ้น บริษัทจะให้ความร่วมมือในขั้นตอนการส่งซ่อม ฯลฯ ที่จะดำเนินการโดยผู้ให้บริการที่จัดหายานพาหนะให้ อีกทั้งยังมีมาตรการเพื่อให้แน่ใจว่าผู้เช่าหรือผู้ขับขี่จะได้รับความสะดวกสบาย เช่นเดียวกับในกรณีที่ให้เช่ารถเช่าของบริษัทเอง
ข้อ 35 (ระบบ GPS)
- ผู้เช่าและผู้ขับขี่ยอมรับและยินยอมว่ารถเช่าอาจมีระบบจีพีเอส (Global Positioning System) (ต่อจากนี้จะเรียกว่า “ระบบ GPS”) ติดตั้งอยู่ ดังนั้นอาจมีการบันทึกตำแหน่งปัจจุบัน, เส้นทางการจราจร ฯลฯ ของรถเช่าไว้ในระบบที่ทางบริษัทใช้งาน และทางบริษัทอาจใช้ข้อมูลที่ถูกบันทึกเหล่านั้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- เพื่อตรวจสอบว่ารถที่ถูกเช่าไปได้ถูกนำมาคืนตามสถานที่ที่กำหนดแล้วเมื่อสัญญาเช่าสิ้นสุดลง
- เพื่อตรวจสอบตำแหน่งปัจจุบันของรถเช่า ฯลฯ เมื่อเข้าข่ายตามข้อ 25.1 หรือในกรณีอื่น ๆ ที่บริษัทเห็นว่าจำเป็นเพื่อการจัดการรถเช่า และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาเช่า ฯลฯ
- เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า, การบริการ ฯลฯ ให้แก่ผู้เช่าและผู้ขับขี่ รวมถึงการวิเคราะห์ทางการตลาดเพื่อทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจมากยิ่งขึ้น ฯลฯ
- ผู้เช่าและผู้ขับขี่ยอมรับและยินยอมให้ทางบริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในระบบ GPS ในข้อ 35.1 ในกรณีที่บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายและข้อบังคับ หรือคำร้องขอหรือคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งจากศาล, องค์การบริหารจัดการ หรือหน่วยงานภาครัฐอื่นๆ
ข้อ 36 (กล้องติดรถยนต์)
- ผู้เช่าและผู้ขับขี่ยอมรับและยินยอมว่าที่รถเช่าอาจมีการติดตั้งกล้องติดรถยนต์ ดังนั้นสภาพการขับขี่ของผู้เช่าและผู้ขับขี่อาจจะถูกบันทึก และทางบริษัทอาจใช้ข้อมูลที่ถูกบันทึกเหล่านั้นเพื่อวัตถุประสงค์ดังต่อไปนี้
- เพื่อตรวจสอบสถานการณ์ของอุบัติเหตุเมื่อมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น
- เพื่อตรวจสอบสภาพการณ์การขับขี่ของผู้เช่าและผู้ขับขี่ที่ทางบริษัทเห็นว่าจำเป็นเพื่อการจัดการรถเช่า และเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามสัญญาเช่า ฯลฯ
- เพื่อใช้ในการพัฒนาคุณภาพของสินค้า, การบริการ ฯลฯ ให้แก่ผู้เช่าและผู้ขับขี่ และการวิเคราะห์การตลาดเพื่อทำให้ลูกค้าได้รับความพึงพอใจเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ
- ผู้เช่าและผู้ขับขี่ยอมรับและยินยอมให้ทางบริษัทเปิดเผยข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ในกล้องติดรถยนต์ในข้อ 36.1 ในกรณีที่บริษัทต้องเปิดเผยข้อมูลตามกฎหมายและข้อบังคับ หรือคำร้องขอหรือคำสั่งให้เปิดเผยข้อมูลตามคำสั่งจากศาล, องค์การบริหารจัดการ หรือหน่วยงานภาครัฐอื่น ๆ
ข้อ 37 (การหักลบกลบหนี้)
ในกรณีที่บริษัทมีข้อผูกพันต้องชำระเงินให้แก่ผู้เช่าภายใต้ข้อตกลงและเงื่อนไขนี้ บริษัทอาจหักลบกลบหนี้เงินจำนวนนั้นกับเงินที่ผู้เช่าต้องชำระให้บริษัทได้
ข้อ 38 (ภาษีเพื่อการบริโภค)
ผู้เช่าจะต้องชำระค่าภาษีเพื่อการบริโภค (รวมถึงภาษีเพื่อการบริโภคท้องถิ่น) ที่เรียกเก็บสำหรับธุรกรรมการเช่าให้กับบริษัทภายใต้ข้อตกลงและเงื่อนไขฉบับนี้
ข้อ 39 (ค่าธรรมเนียมการผิดนัด)
ในกรณีที่ผู้เช่าหรือบริษัท ไม่ชำระเงินตามหน้าที่ที่กำหนดไว้ในข้อตกลงและเงื่อนไขนี้ ผู้เช่าหรือบริษัทจะต้องชำระค่าดอกเบี้ยผิดนัดให้กับอีกฝ่ายในอัตรา 14.6% ต่อปี
ข้อ 40 (กฎหมายที่ใช้บังคับ ฯลฯ)
กฎหมายที่ใช้บังคับจะยึดตามกฎหมายญี่ปุ่น
ในกรณีที่มีข้อแตกต่างระหว่างข้อตกลงและเงื่อนไขฉบับภาษาญี่ปุ่นและฉบับแปลภาษาภาษาไทย ให้ยึดตามฉบับภาษาญี่ปุ่น
ข้อ 41 (ข้อบังคับบริษัท)
- บริษัทอาจกำหนดข้อบังคับบริษัทในข้อตกลงและเงื่อนไขแยกต่างหากได้ และข้อบังคับบริษัทนี้จะมีผลบังคับใช้เช่นเดียวกับข้อตกลงและเงื่อนไข บริษัทจะประกาศข้อกำหนดนี้และข้อบังคับปลีกย่อยในข้อก่อนหน้าที่ร้านสาขาของทางบริษัท พร้อมกับระบุไว้ในแผ่นพับ, รายการแสดงราคา และเว็บไซต์ ฯลฯ ที่ทางบริษัทเป็นผู้ออก
- หากบริษัทแก้ไขข้อกำหนดและเงื่อนไขหรือข้อบังคับบริษัท หรือมีการกำหนดข้อกำหนดปลีกย่อยเพิ่มเติม ทางบริษัทจะประกาศบนบอร์ดประชาสัมพันธ์ของสาขาสำนักงานขาย หรือลงรายละเอียดลงในแผ่นพับ รายการราคาที่ออกโดยบริษัท หรือโพสต์บนหน้าเว็บไซต์ของบริษัท รวมถึงในกรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงก็จะดำเนินการแบบเดียวกัน
ข้อ 42 (การตกลงเรื่องศาลที่มีอำนาจ)
ในกรณีที่มีข้อขัดแย้งใดๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิทธิและข้อผูกพันภายใต้ข้อตกลงและเงื่อนไขนี้ ศาลที่มีอำนาจในการตัดสินคือศาลแขวงที่มีเขตอำนาจศาลเหนือที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ สำนักงานสาขา หรือสำนักงานใดๆ ของบริษัท ไม่ว่าจำนวนทุนทรัพย์ที่พิพาทจะเป็นเท่าใดก็ตาม
ข้อกำหนดเพิ่มเติม
ข้อตกลงและเงื่อนไขการเช่ายืมนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2562